การเจรจาสนธิสัญญา ของ สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440

อินางากิ มันจิโร (Inagaki Manjirō) ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นประจำสยามคนแรก ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตในพ.ศ. 2440 และเป็นเอกอัครราชทูตในพ.ศ. 2442

คำปฏิญาณญี่ปุ่น-สยาม พ.ศ. 2430 ระบุว่าญี่ปุ่นและสยามสามารถตั้งผู้แทนทางการทูตไปประจำที่ประเทศอีกฝ่าย ทางฝ่ายญี่ปุ่นส่งอินางากิ มันจิโร (Inagaki Manjirō, 稲垣 満次郎) มาเป็นอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงสยามคนแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2439 เดินทางถึงประเทศสยามเมื่อเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2440 และฝ่ายสยามได้ส่งพระยาณรงค์ฤทธิเฉท (สุข ชูโต)[1] ไปเป็นอัครราชทูตสยามประจำกรุงโตเกียวคนแรกเช่นกัน

ในขณะนั้นสยามกำลังมุ่งความสนใจไปที่การเจรจากับฝรั่งเศสหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 อินางากิ มันจิโร อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพ แสดงความต้องการที่จะจัดทำสนธิสัญญาระหว่างญี่ปุ่นและสยามอย่างเป็นทางการ ฝ่ายญี่ปุ่นแม้ว่าจะสามารถเจรจายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่เคยมอบให้แก่ชาติตะวันตกได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว แต่ก็ต้องการให้สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีการจัดตั้งศาลกงสุลญี่ปุ่นขึ้นในสยาม ชาวญี่ปุ่นในสยามจะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายสยาม ฝ่ายสยามพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงไม่ต้องการที่จะมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น[5] มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมระหว่างญี่ปุ่นและสยาม[8] อินางากิ มันจิโร ผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น เสนอว่า ให้สยามยินยอมมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น โดยที่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด เมื่อสยามได้ทำการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มีความเป็นสมัยใหม่แล้ว สิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่สยามมอบให้แก่ญี่ปุ่นจะสิ้นสุดลง ดังเช่นที่ชาติตะวันตกอังกฤษสหรัฐได้เคยใช้เงื่อนไขนี้กับญี่ปุ่นเมื่อก่อนหน้า และฝ่ายญี่ปุ่นจะยอมรับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (Arbitration) การเจรจาจึงบรรลุผลและตกลงเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 (นับอย่างปัจจุบัน พ.ศ. 2441)